การประกวดหม้อสังขานต์ ในงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2568
วันที่ 10 เมษายน 2568 นายพงษ์ศักดิ์ ชูชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กลุ่มส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพ ได้เข้าร่วมการประกวดหม้อสังขานต์ ในงานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง ประจำปี 2568 ณ ลานสนามพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง)
‘’หม้อสังขานต์ ความงดงามแห่งเทศกาลปีใหม่เมืองลำปาง ‘’ หม้อสังขานต์ บางคนอาจเรียก หม้อดอกคือหม้อดินเผาที่ปั้นด้วยมือ รูปทรงคล้ายแจกันปากกว้างหรือปากแตร หม้อสังขานต์นี้เป็นสัญลักษณ์ของการต้อนรับศักราชใหม่ในเทศกาล “ปี๋ใหม่เมือง” ของชาวล้านนา เพื่อบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึงการเปลี่ยนผ่านจาก “สังขานต์เก่า” สู่ “สังขานต์ใหม่” เปิดรับสิ่งดีงามและเฉลิมฉลองชีวิตใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น
ในอดีต ชุมชนในลำปาง มักจะผลิตหม้อสังขานต์ออกจำหน่าย โดยหม้อของแต่ละชุมชนจะมีลักษณะแตกต่างกันไป บางแห่งอาจใช้หม้อดินเผาแบบ “หม้อต่อม” ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายและฝีมือของช่างท้องถิ่น
ในช่วงเทศกาล “ปีใหม่เมือง” ชาวลำปางจะนำหม้อสังขานต์มาจัดให้สวยงามในวันล่องสังขานต์ เพื่อบอกว่าปีใหม่กำลังจะมาถึง โดยจะตกแต่งหม้อด้วยดอกไม้ที่หาได้ตามท้องถิ่นและใบไม้มงคลที่มีความหมาย เช่น หมากปู้ หมากเมีย ใบเงิน ใบคำ ใบนาค ใบโกศล ใบขนุน ใบค้ำ ดอกเอื้องผึ้ง ดอกตะล่อม ดอกจำปาลาว ต้นข้าวตอกดอกไม้ หรืออาจเป็นใบไม้ที่มีสีสันต่างๆ ที่สวยงาม แต่ที่ขาดไม่ได้คือ “ตุง” และ “ช่อ” ขนาดเล็ก (สัญลักษณ์ปี๋ใหม่เมือง) โดยการจัดหม้อสังขานต์นี้ไม่มีกฎตายตัว แต่ส่วนใหญ่จะจัดให้คล้ายพุ่มไม้ที่งดงาม
หม้อสังขานต์ขนาดใหญ่ มักประดับไว้ที่เสาประตูหน้าบ้านหรือหน้าอาคารสำนักงาน เพื่อต้อนรับสิ่งดีงาม ส่วนขนาดเล็กจะวางที่หิ้งพระ หิ้งเจ้า หรือหิ้งผีปู่ย่า เพื่อความเป็นสิริมงคล
ซึ่งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดการจัดหม้อสังขานต์ ในครั้งนี้
